วันจันทร์, มิถุนายน 23, 2551

เรื่องเล่าในอดีต EN + AG หาอ่านได้ยาก

มข.สร้างทาง 2 ล้อหนุนประหยัดน้ำมัน

ภาสกร เตือประโคน อายุ 21 ปี คณะเกษตรศาสตร์ อุปนายกกลุ่มงานบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เล่าถึงผลสำเร็จของโครงการใช้รถจักรยานเพื่อการประหยัดพลังงาน หนึ่งในโครงการรวมพลังหารสองของมหาวิทยาลัยว่า ทางมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเพราะมองเห็นว่าการประหยัดไฟทำได้ยากจึงเลือกที่จะประหยัดน้ำมัน โดยรณรงค์ให้หันมาใช้จักรยานแทน
ในช่วงแรกเริ่มโครงการมีอุปสรรคพอสมควร เพราะโดยทั่วไปนักศึกษาส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ อีกอย่างภูมิทัศน์ภายในเขตการศึกษาบางช่วงเป็นเนิน ทางลาดสูงชัน ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงร่วมกับบริษัทเอกชนเปิดร้านขายจักรยานบริการให้ซื้อได้ในราคาถูกลง สามารถผ่อนส่งได้ ทำให้นักศึกษาหันมาให้ความสำคัญกับโครงการประหยัดพลังงานและใช้รถจักรยานเพิ่มมากขึ้น
กล่าวคือ มียอดการใช้จักรยานประมาณ 1,980 คัน ซึ่งเท่ากับลดการใช้น้ำมันไปได้ไม่ต่ำกว่า 891 ลิตร คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 17,820 บาท ตอนนี้จึงดำเนินการปรับปรุงสร้างเส้นทางจักรยานและเพิ่มเส้นทางให้ครอบคลุมมหาวิทยาลัย
“ส่วนตัวผมเดิมใช้รถมอเตอร์ไซค์ ค่าใช้จ่าย เติมน้ำมันบ่อยมาก 2 อาทิตย์เติม 3 ครั้ง พอเปลี่ยนมาใช้จักรยาน ทำให้ประหยัดเติมอาทิตย์ละครั้ง บางครั้ง 2 อาทิตย์เติมครั้ง ถือว่าช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน เสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย ขี่จักรยานไม่เชย ทุกวันนี้หันมามองคนที่มีจักรยานว่าน่ารัก ปั่นไปเรียนด้วยกันจอดด้วยกัน สร้างค่านิยมขึ้นมาใหม่”ภาสกรบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เกษตรศาสตร์ ตำนานจักรยานในมหาวิทยาลัย

หากเอ่ยถึงการใช้รถจักรยานภายในมหาวิทยาลัย ชื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่ทุกคนนึกถึงการเริ่มใช้รถจักรยานภายในมหาวิทยาลัยมีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย และยังคงเป็นที่นิยมของบรรดาบุคลากรและนักศึกษากระทั่งถึงปัจจุบัน
การใช้จักรยานมีมานาน จนเกิดเป็นตำนานเล่าต่อกันมาว่าถึงเส้นทางรัก Loving way ถนนเล็กๆระหว่างคณะเกษตรกับสวนสุวรรณวาจกสิกิจ บรรดานักศึกษาเล่าต่อกันมาว่าหญิงสาวคนใดได้ซ้อนท้ายรถจักรยานผู้ชายผ่านเส้นทางนี้จะได้เป็นแฟนกันทุกคู่ บ้างก็ว่าจะรักกันยั่งยืน ด้วยถนนสายนี้สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นสน หลังคลองมีต้นชมพูพันทิพย์ พอถึงช่วงหน้าหนาวใบของต้นชมพูพันทิพย์จะร่วงเต็มถนน กลายเป็นถนนสีชมพูทั้งเส้น
“การใช้รถจักรยานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมานาน วันปฐมนิเทศช่วงเปิดเทอม อาจารย์จะเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนเราใช้จักรยานกัน เด็กเกษตรต้องคู่กับจักรยาน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอายุครบรอบปีที่ 60 ยังใช้จักรยานอยู่ ทางมหาวิทยาลัยพยายามรณรงค์ให้ใช้รถจักรยานมากขึ้น เพื่อคงรูปลักษณ์มหาวิทยาลัย ถ้าคนรู้จักเกษตรศาสตร์จะมองว่าเป็นเด็กติดดิน ขี่จักรยานตลอด”
อ้อย – เยาวลักษณ์ ตรีสง่า บัณฑิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุ 22 ปี เล่าย้อนวันวานที่เคยใช้ชีวิตในรั้วนนทรี เคยทำงานคลุกคลีในสโมสรนักศึกษาคณะประมงให้ฟังต่อไปว่า
“ก่อตั้งแรกเริ่มมีเพียงไม่กี่คณะ ตึกเรียนอยู่ห่างไกลกัน ระหว่างตึกเรียนเต็มไปด้วยพรรณไม้ เน้นการเกษตรเป็นหลัก รถจักรยานจึงสะดวกต่อการเดินทาง หลังๆ มีการสร้างตึกเรียนคณะต่างๆ เพิ่มขึ้น เวลาผ่านไปเทคโนโลยีมากขึ้น จำนวนรถมอเตอร์ไซค์มากกว่าเดิม”
“ใช้ตั้งแต่ปี 1- ปี 4 ส่วนตัวคิดว่าเพราะสะดวก สบายดี เหนื่อยแต่ได้ออกกำลังกาย ไม่ต้องเสียเวลารอรถ ไม่ต้องเสียเงินค่ารถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง และไม่ต้องเสียเวลารอรถตะไล (รถเมล์เล็กให้บริการภายในมหาวิทยาลัย) ส่วนใหญ่คนที่ใช้คือนักศึกษาที่พักอยู่หอในมหาวิทยาลัย และกลุ่มที่ได้รับการปลูกฝังจากรุ่นพี่ อีกอย่างพื้นที่จอดรถยนต์ไม่เพียงพอ ขับรถยนต์มาเรียนแล้วจอดทิ้งไว้ ช่วงเวลาเดินทางภายในมหาวิทยาลัยโดยอาศัยซ้อนท้ายจักรยานเพื่อน ดีกว่าเสียเวลาหาที่จอดรถยนต์ทำให้เข้าเรียนช้า”
“ใช้จักรยานไม่ค่อยมีปัญหา ช่วงหนึ่งเคยมีปัญหาจักรยานหายบ่อย จนต้องมีมาตรการเข้มขึ้นเพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกลับมาใช้จักรยาน ช่วยกันประหยัดน้ำมันและพลังงานเหมือนเกษตรฯ เคยเป็นในสมัยก่อน ดูเป็นลูกทุ่งๆ เมื่อก่อนไม่มีที่ล็อกล้อสำหรับจักรยาน ไม่มียามเฝ้า เดี๋ยวนี้มีที่ล็อกล้อและยามเฝ้าดูแล นักศึกษาหันมาใช้กันมากขึ้น เดี๋ยวนี้ก็ยังมีให้เห็น จอดเต็ม ส่วนมากจักรยานที่ใช้ไม่เน้นของใหม่ ออกแนวผู้หญิงๆ ดูเก่าๆ ไม่ต้องเสี่ยงกับการสูญหายถูกขโมย”
มองการขี่จักรยานในยุคเทคโนโลยี “ไม่มีเชย เด็กคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หน้าตาน่ารักๆก็นิยมใช้จักรยานกันเยอะแยะ ไม่มีเขินอายสายตาสาวๆ”

อ้อยทิ้งท้ายว่า เท่าที่สำเร็จการศึกษามา 1 ปี มีโอกาสกลับไปที่เกษตรฯ ก็ยังมีเด็กใช้เหมือนเดิม แนวโน้มคิดว่ายังคงมีคนใช้รถจักรยานอยู่บ้าง แม้จะไม่มากเท่าสมัยก่อน
ด้านหน้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ เด็กหนุ่ม 5-6 คนกำลังรุมล้อมจักรยานโบราณด้วยความชื่นชม ก่อนที่หนึ่งในนั้นจะขี่โฉบเฉี่ยวออกไปนอกคณะอย่างมั่นใจ ผ่านป้ายตั้งปิดทางเข้าประกาศห้ามไม่ให้รถจักรยานยนต์ทุกชนิดเข้าตึกเรียน ฝั่งตรงข้ามแม้จะเป็นช่วงปิดภาคเรียน ทว่ายังมีเด็กหนุ่มสาวยืนรอรถตะไลหรือรถเมล์ภายในมหาวิทยาลัยให้เห็นบ้างประปราย

“รถมอเตอร์ไซค์ห้ามเข้าเขตการเรียนการสอน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเปิดให้วิ่งเข้าเขตการเรียนการสอนได้ แล้วเกิดอุบัติเหตุ วินมอเตอร์ไซด์ข้างนอกวิ่งความเร็วไม่จำกัด อุบัติเหตุเกิดบ่อย จึงออกกฎห้ามไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกชนิด” สฤษฎ์ เหลืองวรกุล หรือ อุ้ย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ อายุ 22 ปี เจ้าของรถจักรยานสีฟ้าลักษณะกลางเก่ากลางใหม่ ปั่นจักรยานจากหอพักนอกมหาวิทยาลัยเพื่อนำงานเข้ามาส่งที่คณะเล่าให้ฟัง

“ช่วงปี 1 – ปี 2 เปลี่ยนคาบเรียนระหว่างศูนย์เรียนรวมและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใช้เวลาเดิน 5-10 นาที ใช้จักรยานบ่อย พอขึ้นปี 3 เรียนภายในคณะมากขึ้นจึงไม่ค่อยได้ใช้ ใช้บ้างเวลาไปทานข้าว”

อุ้ยบอกว่าน้าของเขาซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่ารั้วเดียวกันเล่าบรรยากาศเมื่อ 10 กว่าปีให้ฟังว่า ทุกคนใช้จักรยานกันหมด เป็นมหาวิทยาลัยจักรยาน ตอนนี้เริ่มเปลี่ยน ตั้งแต่เข้ามาเรียน เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ใช้รถยนต์กันมากขึ้น จักรยานน้อยลง แต่ว่า 2 ปีก่อน เพื่อนขับรถยนต์ไปจอดในที่จอดรถจักรยาน ต้องรอจนถึง 6 โมงเย็นจึงจะเอารถออกมาได้ เพราะเจอรถจักรยานล็อกล้อจอดปิดทาง แสดงว่าการใช้รถจักรยานก็น่าจะเป็นที่นิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย

“ข้อดีจอดที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องหาที่จอดรถยาก รถจักรยานราคาไม่แพงมาก หากหายไปก็ไม่เสียดายรถมอเตอร์ไซด์เวลาออกตัวแรงเยอะกว่า แต่รถจักรยานประหยัดพลังงาน สะดวกปลอดภัยกว่า ไม่มีอะไรน่าอาย ใช้รถจักรยานดีออก ผมว่าคลาสสิคดี เหมือนเป็นการย้อนยุค แบบสมัยก่อน”

ส่วน กมล เทอำรุง นักศึกษาคณะวนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 อายุ 22 ปีบอกว่า “ผมอยู่หอนอก แต่ใช้รถจักรยานมาตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 4 สะดวกดี ช่วงเปลี่ยนคาบเรียนและช่วงเช้า จะเห็นรถจักรยานเป็นแถว แต่บางครั้งรู้สึกไม่ปลอดภัย จักรยานบางครั้งโดนรถใหญ่เบียด หรือเห็นว่าเราขี่ช้าก็บีบแตรไล่ก็มี”

เช่นเดียวกับ สถิต ภู่สอน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุ 22 ปี ที่เล่าให้ฟังว่า “ใช้มาตลอด 4 ปี ที่ผ่านมาเปลี่ยนจักรยานไปแล้วหนึ่งคัน คันแรกหาย คันนี้เป็นคันที่สอง แต่ไม่ได้ซื้อเป็นของรุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้วยกให้ ใช้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งเรียนจบ ปั่นไปรับไปส่งแฟนสาวหอนอก เช้าๆ ไปรับมาเรียน สะดวกดี เวลาไปเรียนปั่นจากหอพักมาเรียนที่คณะ แรกๆ ใช้วิธีเดินเรียน รู้สึกว่าไม่ได้ตามต้องการทำให้เข้าเรียนสาย จึงตัดสินใจซื้อรถจักรยานมาใช้ สะดวกและเร็วขึ้น สามารถซิกแซ็กไปไหนมาไหนก็ได้ แก้ปัญหาการจราจรภายในมหาวิทยาลัยได้ในระดับหนึ่ง และยังลดปัญหาอุบัติเหตุจากยวดยานพาหนะที่วิ่งเร็วๆ ได้”

สำหรับ สุนันทา บุญสนอง อายุ 21 ปี เพื่อนสาวคณะเดียวกันเสริมว่า เคยได้ยินอาจารย์ที่สอนมานานเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนจำนวนรถยนต์น้อยมาก แทบไม่มี มีแต่รถจักรยาน ถ้ามีการรณรงค์ให้ใช้จักรยานมากขึ้น ต่อไปคงเป็นภาพที่สวยงาม แนวโน้มการใช้รถจักรยานภายในมหาวิทยาลัย แม้ผู้ใช้จะลดจำนวนลง คิดว่ายังมีกลุ่มอนุรักษ์มองว่าจักรยานเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รณรงค์ให้ยังคงใช้อยู่ไม่สูญหาย
.
.
ผู้ให้การสนับสนุน



- - -- - - - - - - - - - - - - - - - - - ---
ข่าวและภาพบางส่วน จาก ; ผู้จัดการรายวัน 15 มีนาคม 2548
ที่มา : http://www.manager.co.th/Daily/




2 ความคิดเห็น:

Lonely Anthony กล่าวว่า...

Hello

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล